top of page

คนตะวันตกเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ นักประดิษฐ์ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของวัตถุธรรมเป็นอย่างดี

จึงสามารถนำการปรุงแต่งทางวัตถุในทุกรูปแบบ มาประดิษฐ์คิดค้น เป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม...

โลกคือการปรุงแต่ง ชีวิตคือการปรุงแต่ง คนตะวันออกมีความรู้ในเรื่องการปรุงแต่งทางนามธรรม

มหาบุรุษ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือผู้ที่ตกผลึกทางภูมิจิต ภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่มนุษย์จักพึงเข้าถึงได้ด้วยการสั่งสมบุญญาบารมี

พระพุทธองค์จึงรู้แจ้งพร้อมทั้งอยู่เหนือทั้งการปรุงแต่งในส่วนของนามธรรมและวัตถุธรรมได้อย่างรอบด้านสมบูรณ์...

แต่มาในเวลานี้ เริ่มเห็นเป็นจริงว่า ต่อไปพระพุทธศาสนาจะเคลื่อนไปยังตะวันตก

อันที่จริงคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าตะวันตกหรือตะวันออกของซีกโลก สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ

การเคลื่อนไปของพุทธศาสนาเคลื่อนไปตามภูมิจิต ภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษย์ ณ สถานที่นั้น ๆต่างหาก...

ในอีกประเด็นหนึ่งคือคนตะวันตก ณ ปัจจุบันมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

เชื่อมต่อกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางจิตในระดับหนึ่ง พร้อมทั้งการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมมีมากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง

ในงานศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ทางจิต คนตะวันตกจึงเริ่มมีความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่งในด้านการศึกษาและปฏิบัติธรรม...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทาง ด้านกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) และ สรีรวิทยา (Physiology) ของสรีระร่างกายมนุษย์

ที่เป็นประเด็นก็คือความรู้ทางด้านสมอง ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทอัตโนมัติ

ที่เชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ของโครงสร้างทางร่างกายและอวัยวะน้อยใหญ่

เชื่อมต่อกับระบบประสาททางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยการทำงานอย่างมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างจิตกับกาย

โดยจิตมีการทำงานร่วมกับสมองและระบบประสาทต่าง ๆ ทำให้ชีวิต และการทำหน้าที่ของชีวิตเป็นไปได้อย่างปกติ.....

จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตคิด จึงสั่งกายให้พูด และกระทำทางกาย...

ฐานความเชื่อเดิม จนกระทั่งปัจจุบันของชาวตะวันตกคือ เชื่อในพระเจ้า แต่ที่ผ่านมาชาวตะวันตกเป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักค้นคว้า

และประสบความสำเร็จในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งก็คือวิทยาศาสตร์ทางวัตถุธรรม หมายรวมถึงเรื่องร่างกายด้วย

และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จวบจนมาปัจจุบันคือ วิทยาศาสตร์ทางจิต ยุคดิจิตอล

และมาถึงจุดของการเชื่อมต่อของวิทยาศาสตร์ทางจิตกับวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ

พระพุทธศาสนาจึงได้รับการยอมรับมาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต

และจักเป็นศาสนาของผู้ปรารถนาความรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องชีวิตและโลก

 

โดยเฉพาะงานวิจัยในเรื่องสมาธิและผลของสมาธิ ว่ามีผลต่อร่างกาย เช่น

1)ส่งเสริมและกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนแห่งความสุข Endorphin hormone

2) กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเม็ดเลือดขาว

3) ช่วยให้เกิดความสมดุลของร่างกายในด้านต่าง ๆ เช่น เมตาบอลิซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบหายใจ เป็นต้น

 

อำนาจพลังจิต ซึ่งเป็นพลังแม่เหล็กไฟฟ้า มีผลต่อวัตถุ ซึ่งก็แน่นอน จิตมีผลส่งถึงกาย เช่นกัน เรียกว่า Psychosomatic effects....

และโรคส่วนใหญ่เกิดจากจิตส่งถึงกาย เช่น ความเครียด ส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน...โรคกระเพาะ  โรคความดัน  โรคไมเกรน  จนถึงโรคมะเร็ง เป็นต้น

 

มีการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นเหตุผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ถึงการที่จิตที่มีสติ สมาธิ สัมปชัญญะ และปัญญา ส่งผลถึงกาย

ในที่นี้คือ สมอง และระบบประสาท ทำให้มีการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ชาวตะวันตกหันมานับถือพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

เพราะพุทธศาสนาคือ ศาสนาแห่งการประพฤติปฏิบัติ เห็นผลได้ในปัจจุบัน ประจักษ์แจ้งโดยไม่จำกัดกาล

ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี ศาสนวัตถุ ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน

ผู้รู้จึงรู้จักใช้ประโยชน์แห่งความสัมพันธ์นั้น เพื่อความเกื้อกูลพัฒนาเจริญงอกงามในธรรม

จึงชื่อว่า รู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม

 

กรรมคือ เจตนา เมื่อเจตนาประกอบด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิแล้ว ย่อมรู้จักใช้ธรรมฝ่ายรูปธรรมและนามธรรมนั้น

ยังประโยชน์ต่อการพัฒนากุศลกรรม จนนำไปสู่ มรรค ผล และนิพพานได้

ซึ่งก็คือหลักปฏิบัติอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาคือ ละเว้นความชั่วทุกชนิด ทำความดีให้ถึงพร้อม ยังจิตใจให้บริสุทธิ์

 

มนุษย์มีความแตกต่างกันหรือความไม่เสมอกันในทิฏฐิ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา

มีมากบ้างน้อยบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ที่ลดหลั่นกันไปตามแต่วาสนาบารมีที่สั่งสมปฏิบัติกันมา

นี้คือธรรมชาติ เป็นอย่างนี้เอง เป็นเช่นนี้เอง ไม่เป็นอื่น

 

ชีวิตคือการเดินทาง ชีวิตคือการเรียนรู้ ชีวิตคือการดำเนินไปตามความใฝ่ฝัน

ท่ามกลางการเดินทางได้เปิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ ให้กว้างไกลและรอบด้านมากยิ่งขึ้น

เผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ เปิดโอกาสแห่งการฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาเติมเต็มสิ่งที่ขาด

 

ท่ามกลางการเดินทางนั้น ๆ เข้าใจการปฏิสัมพันธ์ระหว่างธรรมในฝ่ายรูปธรรมและฝ่ายนามธรรม

จากการเดินทางภายนอก เกี่ยวข้องกับธรรมในฝ่ายรูปธรรม ก็ได้ก้าวเข้ามาสู่ธรรมในฝ่ายนามธรรม

การเดินทางภายใน ก็ได้เริ่มขึ้น เป็นการเดินทางเพื่อฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาในด้านจิตใจในด้านคุณธรรม

เกิดความรู้ความเข้าใจในโลกและชีวิตมากยิ่งขึ้น

 

ในที่สุด ก็รู้ว่า โลกก็เป็นอย่างนี้เอง เป็นเช่นนี้เองไม่เป็นอื่น เป็นสังขารธรรม ที่มีการปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัย

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นไปตามกระแสแห่งปัจจยการหรือปฏิจจสมุปบาท

เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ เป็นอยู่เช่นนี้โดยหาต้นไม่พบ ปลายไม่เจอ

20180715_092316.jpg

แต่ยังมีธรรมในอีกมิติหนึ่ง คืออสังขตธรรม เป็นธรรมที่เหนือการปรุงแต่ง อยู่เหนือการเวียนว่ายในวัฏสงสาร

สงบเย็น ปราศจากความเร่าร้อน ด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน มานะ ทิฏฐิใด ๆ

 

การจะเข้าถึงธรรมะในมิตินี้ได้ ต้องเริ่มต้นจากการปฏิบัติที่เรียกว่าสติปัฏฐาน 4

โดยมีอานาปานสติเป็นวิธีการปฏิบัติ ซึ่งมีองค์ประกอบแห่งองค์ธรรมคือ สติ สัมปชัญญะและความเพียร

และนี่คือ การดำเนินทางที่เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" โดยมีเป้าหมายแแห่งการพัฒนาให้เข้าถึงซึ่ง วิเวก วิราคะ นิโรธะ และปฏินิสสัคโค

ผัสสะ เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ต้องเกิดอยู่แล้วตามกฎแห่งปัจจยการ จะห้ามมิให้เกิดหรือจะสั่งให้เกิดก็ไม่ได้

เมื่อเกิดผัสสะ สิ่งที่ตามมาคือ เวทนา จิต ทำหน้าที่รู้อย่างมีสติ ณ ระดับผัสสะ และเวทนา

โดยให้รับรู้อย่างมีสติโดยอาการสักแต่ว่ารู้ จะป้องกันไม่ให้ตกลงไปในวังวนของความชอบและไม่ชอบด้วยความหลง

สติสัมปชัญญะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากที่จักช่วยพัฒนาจิตให้ประกอบด้วยสมาธิและปัญญา

นั่นก็คือ กระบวนการภาวนานั่นเอง ภาวนา คือ การพัฒนาจิต ให้มี สติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา

20180607_132534.jpg

ความแตกต่างในเรื่องศาสนา การเมือง ลัทธิ อุดมการณ์ ความเชื่อ วิถีวัฒนธรรม เป็นเรื่องปกติ

เพราะโลกและชีวิตคือความหลากหลาย คือการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป

แต่เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ มานะทิฐิ และบริวาร ซึ่งอาจประนีประนอมกันได้ ในระดับหนึ่ง

แต่หากประเด็นเหล่านั้น ขัดแย้งกันรุนแรง เมื่อถึงที่สุด มิอาจยอมกันได้ สงครามการเข่นฆ่าประหัตประหารกันจึงเกิดขึ้น

เพราะหลงโลภ หลงโกรธ ด้วยอคติ เพราะรัก เพราะชัง เพราะหลง และเพราะกลัวภัย

ทั้งนี้ ด้วยเหตุแห่งอวิชชา ความที่ไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง

คนซึ่งมืดบอดทางความคิด มืดมิดทางปัญญา จึงก้าวล่วงละเมิดศีล อันเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิ

ยากที่จะหลุดพ้นบ่วง แห่งความทุกข์ไปได้ เสียดายได้อัตภาพแห่งความเป็นมนุษย์แต่กลับไม่รู้จักใช้

ให้เกิดคุณค่าความหมาย ที่จักนำพาชีวิตไปสู่ทางงดงามอันประเสริฐ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จึงกล่าวได้ว่า เป็นโมฆะบุรุษโดยแท้

  

โลกคือ หมู่ดวงดาวน้อยใหญ่ หมื่นโลกธาตุ แสนโกฏิจักรวาล หาต้นไม่เจอ หาปลายไม่พบ ไม่มีจุดจบ เป็นอย่างนี้เอง เป็นเช่นนี้เอง ไม่เป็นอื่น 

โลกคือ หมู่สรรพสัตว์น้อยใหญ่ หาต้นไม่เจอ หาปลายไม่พบ ไม่มีจุดจบ เป็นอย่างนี้เอง เป็นเช่นนี้เอง ไม่เป็นอื่น 

โลกคือ กายยาววาหนาคืบนี้ ส่งจิตเข้ามา มีสติระลึกรู้ มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม  มีความเพียรกำหนดรู้อย่างต่อเนื่อง

เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม มีจุดจบได้

แจ้งประจักษ์ได้ แทงตลอดในพระสัทธรรมได้ เข้าถึงซึ่งบรมสุขได้ สิ้นภพสิ้นชาติได้

 

อดีตผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตยังมาไม่ถึง หาควรต้องวิตกกังวลไม่ ปัจจุบันคือความจริงที่กำลังเผชิญอยู่

ทำให้ดีที่สุด สุขกับปัจจุบัน นี่แหละคุณค่าความหมายของชีวิต ที่อยู่อย่างมีสติปัญญา

00010.MTS_001325589.jpg

การให้อภัยด้วยเมตตา แม้จะมิใช่การลบล้างเหตุการณ์เรื่องราวในอดีตก็จริง

แต่เป็นการเปิดโอกาสให้จิตเป็นอิสระ ได้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆด้วยกุศลเจตนา

ยังความงดงามแห่งชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันเป็นผลด้วยกุศลวิบากอย่างมิต้องสงสัย

และความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม เป็นพื้นฐานที่ดีของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขสันติ

 

ความอาฆาตพยาบาท อุปมาอุปไมยเปรียบเทียบ ดั่งเช่น

มีดที่กรีดบนหิน มีดที่กรีดบนดิน มีดที่กรีดบนผืนทราย มีดที่กรีดบนผืนน้ำ มีดที่กรีดบนอากาศ

 

มีดที่กรีดบนหิน ย่อมยังร่องรอยที่ลึก อยู่นาน ยากที่จะลบร่องรอยนั้นออกได้ง่ายๆ

มีดที่กรีดบนดิน ย่อมยังร่องรอยที่ลึก แต่อยู่ไม่นาน ง่ายที่จะลบร่องรอยนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับร่องรอยบนหิน

มีดที่กรีดบนผืนทราย สามารถลบร่องรอยนั้นได้ง่าย กว่าร่องรอยบนดิน

มีดที่กรีดบนผืนน้ำ ชั่วพริบตาร่องรอยนั้นก็หายไป

มีดที่กรีดบนอากาศ แม้ไม่เห็นร่องรอยที่แหวกไป แต่รับรู้รู้สึกได้

 

ความผูกอาฆาตพยาบาทของจิต ยังความทุกข์ร้อนทางจิต

ในระดับที่หนักเบาแตกต่างกันไป ดั่งเช่นการอุปมาอุปไมยที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นแล

 

ผู้ปรารถนาความสุขในทุกมิติของชีวิต ย่อมรู้ชัดว่า หาควรมีมีดไว้กรีดสิ่งใด ๆ

หากมีสติปัญญาอันเป็นไปเพื่อการละวางซึ่งอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นนั้นแล พร้อมทั้งเจริญพรหมวิหารธรรมอยู่เนือง ๆ

lecture_edited.jpg

เรามีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความเชื่ออาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้

ความจริงไม่แปรเปลี่ยนไปตามความเชื่อ จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น

หน้าที่ของเราคือ พัฒนาความเชื่อให้เข้าถึงความจริงด้วยสติปัญญา

ชีวิตจึงไม่ฝากไว้กับความเชื่อ แต่ยืนอยู่บนความจริง เข้าใจ เข้าถึง และแทงตลอดในพระสัทธรรม

ก็จะเข้าถึงความสุขอันเป็นบรมสุขคือ พระนิพพาน

 

จากนี้ไปสถานการณ์โลกไม่เหมือนเดิม ดุลอำนาจ จะมีการปรับเปลี่ยน ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ระบบนิเวศ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พลังงานสะอาด โลกแห่งดิจิตอล

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พื้นฐานของทุกชีวิต ก็หนีไม่พ้นปัจจัยทั้ง 5 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค สิ่งอำนวยความสะดวก

 

ใครคุมปัจจัยการผลิต สิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะอยู่รอด พลังการผลิตไม่น่าจะมีปัญหา

แต่ประเด็นปัญหาคือความสัมพันธ์ในพลังการผลิตและผลิตผลที่ได้ การจัดสรรทรัพยากร ใช้ทรัพยากร ให้ถูกต้องชอบธรรม

จึงเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึง หลักใครใหญ่ใครอยู่ เป็นหลักพื้นฐานของสัญชาตญาณของเดรัจฉาน

 

มนุษย์เป็นสัตว์ ที่ฝึกได้พัฒนาได้ และสามารถอยู่เหนือสัญชาตญาณของความเป็นสัตว์ ด้วยสติปัญญา

พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม วิทยาศาสตร์ทางวัตถุและวิทยาศาสตร์ทางจิตก็จะเกิดดุลยภาพ

 

ความสมดุลความยั่งยืน ที่หาใช่ความหยุดนิ่ง แต่เป็นไปอย่างพลวัต เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป บนฐานของกฎไตรลักษณ์

แต่เกิดการพัฒนาอย่างสอดคล้อง ดุจขดลวดสปริงในแนวตั้ง นี่แหละ โลกและชีวิตพร้อมด้วยความใฝ่ฝัน

รำไทย_edited.jpg
อวยพรปีใหม่_edited.jpg
พระมาลัย_edited.jpg
bottom of page