top of page
Budhathas.png

ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

" ยูเนสโก "

ด้านการศึกษาศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ

เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2549

สารคดีธรรมะ

"คำสอนตามแนวทาง พุทธทาส อินฺทปญฺโญ"

เสนอเป็นธรรมทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่

ศ.กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล ราชบัณฑิต, ศิลปินแห่งชาติ

ในวาระครบรอบ ๒ ปี แห่งการถึงแก่กรรม

๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

ภาค ๑ ความยาว ๓๓:๑๕ นาที

ว่าด้วยชีวประวัติ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

และ กำเนิดสวนโมกขพลาราม

ภาค ๒ ความยาว ๒๖:๒๐ นาที

ว่าด้วยการก่อตั้งสวนโมกข์แห่งที่ ๒ (วัดธารน้ำไหล)

พุทธทาส กับ พุทธศาสนา

ในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ และ ธรรมะ ๙ ตา

ภาค ๓ ความยาว ๓๐:๒๐ นาที

ว่าด้วยเรื่อง อตัมมยตกถา, ปฏิจจสมุปบาท กับ อานาปานสติสูตร,

ธรรมะ ๔ เกลอ และ ละสังขาร

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย

แม้ร่างกาย จะดับไป ไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง

นั่นเป็นเพียง สิ่งเปลี่ยนไป ในเวลา


พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย

ถึงดีร้าย ก็จะอยู่ คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา

ตามบัญชา องค์พระพุทธ ไม่หยุดเลย


พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย

อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ ตามที่วาง ไว้อย่างเคย

โอ้เพื่อนเอ๋ย มองเห็นไหม อะไรตาย ฯ

Buddhadasa1.jpg
พุทธทาส3.jpg

พระธรรมโกศาจารย์

(พุทธทาส อินทปัญโญ)

27 พฤษภาคม 2449 - 25 พฤษภาคม 2536

ใบไม้กำมือเดียว เมื่อเทียบกับใบไม้ทั้งป่า…พระพุทธเจ้า ทรงตรัสแต่เรื่อง ทุกข์และการดับทุกข์…

การศึกษา เป็นเครื่องมือให้มีความรู้อย่างถูกต้องและพอดี…เป้าหมายของการศึกษา คือธรรมะ คือความถูกต้องที่จะดับทุกข์ได้…

 

ขาด “สัมมา” ไม่เป็นพุทธศาสนา คือ ไม่ดับทุกข์...สัมมา ประกอบด้วยองค์ 4 ประการคือ วิเวก วิราคะ นิโรธะ โวสสัคคะ...

ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้เพียงพอ…ปรับปรุงส่วนการปฏิบัติให้มีสติถูกต้อง เพียงพอ และทันต่อเวลา…สติ คือสิ่งที่แล่นเร็วดั่งลูกศร…สัมปชัญญะ คือปัญญาที่มาทำหน้าที่เฉพาะ…จัดความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้องที่เรียกว่า ทีมเวิร์ค (teamwork) ในธรรมทั้ง 4 นี้คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ คือหัวใจของการประพฤติปฏิบัติ…หากเป็นเครื่องมือ ศีลก็เปรียบได้ดั่งด้ามจับ ปัญญาคือความคม สมาธิคือน้ำหนัก…ใช้สติปัญญามาแก้ไขที่ต้นเหตุ คือความเห็นแก่ตัว…ความเห็นแก่ตัว คือต้นเหตุแห่งความเลวร้ายทุกชนิด…จัดการที่ปลายเหตุ คือลูกหมา จัดการที่ต้นเหตุ คือราชสีห์…

 

พุทธศาสนามีหลักสอนว่า “ไม่มีตัว” เมื่อไม่มีตัวก็มีความเห็นแก่ตัวไม่ได้...ตัว คือปฏิกิริยาของความโง่ชั่วขณะ......ปรับปรุงการศึกษา เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา รู้เรื่องความไม่มีตัวแล้วก็ไม่เห็นแก่ตัว...อัตตถปัญญา ปัญญาที่มองเห็นแต่ประโยชน์ของตัว...เป็นมนุษย์อสุจิ มนุษย์สกปรก...ปัญญาชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตอันสูงสุด ประเสริฐที่สุด..ธัมมชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ...ถ้าสติปัญญามีพอแล้วไม่ต้องมีความหวัง...อย่ามีชีวิตอยู่ด้วยกิเลสตัณหา...ชีวิตของคนโง่ คือชีวิตที่กัดเจ้าของ ...มีชีวิตที่ถูกต้อง ไม่กัดเจ้าของ...มีชีวิตที่เย็น ไม่มีไฟประเภทราคะ โทสะ โมหะ...

 

ทำให้ธรรมะเป็นสถาบัน เรียกว่า ธรรมสถาบัน คือ มีธรรมะฝังลงไปในจิตใจ...หมดความเห็นแก่ตัวเมื่อไหร่ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายและศาสนา...การศึกษาเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว...ปริยัติให้ปริญญา ปฏิบัติให้สติ ปฏิเวธให้ความเย็น...

 

พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ...พระอานนท์กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องลึกซึ้งพอประมาณ” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องลึกซึ้งที่สุด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง...ปฏิจจสมุปบาท เป็นกฎที่มีอยู่ในทุก ๆปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลอันใหญ่หลวงนี้...สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงติดบ่วงอยู่ในวัฏฏะ...กิเลส กรรม วิบาก...วัฏฏะเดี๋ยวนี้ที่นี่ ...ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง...ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม...ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง...เห็นพระพุทธเจ้าได้ภายในตัวเรา...ศึกษา เข้าใจ ปฏิบัติ เห็นแจ้งประจักษ์แก่จิตใจ เป็นวิปัสสนา ไม่อยู่ใต้เหตุผล ใช้ได้ในการดับทุกข์...ปฏิจจสมุปบาทจะพูดเรื่องไม่มีตัวตน...ไม่มีบัญญัติว่าดีว่าชั่ว ว่าบุญว่าบาป ว่ากุศลว่าอกุศล เป็นเพียงกระแสของปฏิจจสมุปบาทตามธรรมชาติ...ตัวปฏิจจสมุปบาทมุ่งแสดงว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ ทุกข์ดับลงอย่างนี้...ความทุกข์เกิดขึ้นตรงมีอวิชชาในขณะผัสสะทางอายตนะ...ถ้าตรงนี้โง่ ก็มีทุกข์...ถ้ามีสติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เพียงพอในขณะผัสสะ ก็ไม่ทุกข์...ด้วยเหตุนี้ต้องฝึกอานาปานสติ เพื่อให้มี สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ เพียงพอ...ก็จะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ในขณะผัสสะ...

 

อานาปานสติ มีสติกำหนดสัจจะหรือความจริงสูงสุดของธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก – เข้า...พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อตถาคตอยู่ด้วยอานาปานสติเป็นวิหารธรรม ตถาคตก็ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”...ทรงแนะให้ใช้อานาปานสติแก้ไขปัญหาต่าง ๆสารพัดอย่าง แม้กระทั่งทางวินัย...อุบายที่ละเอียดก็คือ อานาปานสติ...ระบบปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงเสนอ...เป็นความรู้ ความลับของธรรมชาติที่มนุษย์ค่อย ๆรู้เองตามลำดับ จนกระทั่งสูงสุดทำให้บรรลุมรรคผล...รู้จักจัดการ บังคับลมหายใจ และใช้ให้เป็นประโยชน์...ตั้งแต่คนป่า แล้วก็มาตกอยู่ในกำมือของมุนีฤษีชีไพร จนกระทั่งมาอยู่ในกำมือของพระพุทธเจ้าก็พัฒนาสูงถึงที่สุด...คำเดิมก่อนคำนี้คือ ปราณายาม บังคับลมหายใจ...บังคับลมหายใจมีผลต่อร่างกาย...สูงสุดจนควบคุมกิเลสได้...อานาปานสติเป็นที่แพร่หลายมาก...เด็กชายสิทธัตถะอายุ 7 ขวบก็ทำได้ที่ใต้ต้นหว้าในวันแรกนาขวัญ...อยู่ในหลักสูตรของมนุษย์ ที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในหน้าที่การงาน ด้วยการฝึกจิต...ใช้ได้ทั้งเรื่องโลก ๆ และโลกุตตระ...สามารถเป็นเครื่องมือทางสันติภาพ...หายใจทีเดียวขับไล่ความทุกข์ออกไปได้ไม่มีเหลือ...เป็นสิ่งที่คนโง่ไม่รู้จัก...ทำชีวิตนี้ให้มีความสงบสุขได้อย่างแท้จริง...การศึกษาในโลกไปรับใช้กิเลสเสียหมด...ไม่ได้รับใช้เพื่อทำลายกิเลส...ถ้าเป็นหลักสูตรการศึกษาบังคับทางจิตทางวิญญาณได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้น เป็นโลกพระศรีอริยเมตไตรยขึ้นมาในพริบตาเดียว ด้วยอำนาจของอานาปานสติ...

 

สวรรค์ พรหมโลก นิพพานได้ที่นี่...บังคับจิตให้ถูกต้อง ชำระจิตให้ถูกต้อง นิพพานก็มาครอบเอง เหมือนกับแสงสว่าง พอเปิดเครื่องกั้นออก แสงสว่างก็มาถึงเอง ...อานาปานสติเป็นหัวใจของคำสอนอันใหญ่หลวงของพุทธศาสนา...โพธิปักขิยธรรม 37...ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้...เริ่มต้นที่สติปัฏฐาน 4 ...อานาปานสติเป็นหัวใจของสติปัฏฐาน 4...เมื่ออานาปานสติสมบูรณ์แล้ว สติปัฏฐาน 4 ก็สมบูรณ์ ...เมื่อสติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ โพชฌงค์ 7 ก็สมบูรณ์...อริยมรรคมีองค์ 8 ก็สมบูรณ์...การบังคับจิตได้สมบูรณ์ที่สุดก็คือ 3 อาการนี้...บังคับให้บันเทิงรื่นเริงเป็นสุขขึ้นมาได้ตามที่ต้องการ...ตั้งมั่นเป็นสมาธิก็ได้...

ปล่อยสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นได้...เรียกว่ามีอำนาจเหนือจิต...วิธีปล่อยก็คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา...เห็นอนิจจังให้จริงลงไป...
อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถตา อตัมมยตา...

อานาปานสติจึงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ...

bottom of page