top of page
som400.jpg

ชีวิตประกอบด้วยกายและจิต กายปราศจากจิตชื่อว่าไม่มีชีวิต จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตคิดจึงสั่งกายให้พูดและแสดงออกทางกาย ชีวิตส่วนกายต้องการอาหารและน้ำเพื่อพลังทางกาย ชีวิตส่วนจิตก็ต้องการพลังทางจิตเพื่อให้ชีวิตอยู่อย่างมีพลัง เพื่อรักษาและพัฒนาชีวิต ชื่อว่า "พลังแห่งชีวิต" เป็นพลังทางจิต พลังทางปัญญา ให้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าความหมาย เต็มภูมิแห่งความเป็นมนุษย์

การบรรยาย

"การปฏิบัติธรรม"

โดย นายสัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย

วันพุธที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 17.00 น. 

ณ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

*มีประเด็นที่พูดถึง*

กรรมดำ กรรมขาว กรรมไม่ดำไม่ขาว

“สมาธิเพื่อพลังแห่งชีวิต” เป็นหัวข้อที่ใช้บรรยาย ณ ธรรมสถาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นเวลาโดยประมาณ 10 กว่าปี ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการบรรยายในท่ามกลางการมีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับผู้ฟังที่หลากหลาย

สมาธิจิตก็เฉกเช่นกัน เปรียบเหมือนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจในชีวิตส่วนกาย เห็นกายหยาบ เห็นกายละเอียด เห็นความเป็นไปของจิตของตัวเอง จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตมีความยึดมั่นถือมั่น อาฆาตพยาบาท จิตมีปีติ จิตมีความสุข จิตมีความบันเทิงร่าเริง จิตมีความจางคลาย มีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาเหล่านี้ เป็นต้น ก็ด้วยอำนาจของพลังจิตของสมาธิจิตที่เป็นบาทฐานของปัญญานั่นเอง

 

ท่านก็อุปมาอุปไมยเหมือนกับน้ำ ถ้าเราตักน้ำจากแม่น้ำลำคลองมา มีโคลน ขุ่นมัวไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ แต่ถ้าเราแกว่งน้ำ เช่น ใช้สารส้มมาแกว่งก็จะทำให้ดินตะกอนต่างๆค่อยๆตกลงสู่ก้นไป ก็จะเกิดส่วนใสที่ส่วนข้างบนของน้ำนั้น ตรงนี้แหละคือสมาธิจิตได้เกิดขึ้นแล้ว คือมีความใสปราศจากซึ่งสิ่งรบกวนหรือปราศจากสิ่งซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาจิต

สิ่งที่มาเป็นอุปสรรคขัดขวางก็คือ นิวรณ์ นั่นเอง นิวรณ์กับสมาธิ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เป็นธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน จึงขอกล่าวถึงสมาธิพอให้เห็นภาพกว้างๆเพื่ออย่างน้อยเป็นแนวทางให้ได้ศึกษาค้นคว้าในลำดับต่อไป

สมาธิมี 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ขณิกสมาธิ ระดับที่ 2 อุปจารสมาธิ และระดับที่ 3 อัปปนาสมาธิ

            ขณิกสมาธิคือ สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิที่ช่วยให้จิตได้พักชั่วคราว ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้จิตทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ

            ส่วนอุปจารสมาธิเป็นสมาธิจวนจะแน่วแน่ เฉียดฌาน เป็นระดับจิตที่มีกำลัง มีพลังที่สามารถใช้ไปทำหน้าที่ต่างๆได้ และส่งเสริมการทำหน้าที่ของขณิกสมาธิ เป็นสมาธิที่เริ่มมีองค์ฌานทั้ง 5 เกิดขึ้นแล้ว จึงเป็นที่มาของคำเรียกว่า อุปจารฌาน แต่ก็ยังไม่แน่วแน่มั่นคง ด้วยว่ากำลังยังไม่มากพอ แต่ก็เป็นฐานที่นำไปสู่  อัปปนาสมาธิ ในอีกด้านหนึ่ง อัปปนาสมาธิก็ส่งผลเกื้อกูลต่ออุปจารสมาธิและขณิกสมาธิ

            อัปปนาสมาธินี้คือ สมาธิแน่วแน่ จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน องค์ฌานทั้ง 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา มีความแน่วแน่มั่นคงไม่หวั่นไหว แล้ว มีตั้งแต่ฌาน 1 ถึงฌาน 8 ซึ่งฌานที่ 1 ถึงฌานที่ 4 คือ รูปฌาน ส่วนฌานที่ 5 ถึงฌานที่ 8 คือ อรูปฌาน แต่สัมมาสมาธิคือฌานที่ 1 ถึงฌานที่ 4 เป็นระดับของสมาธิที่มีพลังมากเพียงพอต่อการต่อยอดทางปัญญาคือวิปัสสนานั่นเอง ในขณะเดียวกันก็พร้อมต่อการพัฒนาคุณธรรมพิเศษในด้านพลังจิตในมิติต่างๆได้ด้วย

bottom of page