สมาธิเพื่อพลังแห่งชีวิต
พระโสดาบันคือเป้าหมายขั้นต้นที่พึงเข้าให้ถึง
บุคคลที่ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้ และเป็นบุคคลอันเป็นแบบอย่างในทางพระพุทธศาสนา บุคคลเช่นนี้คือใคร? คือพระอริยบุคคลนั่นเอง นับจากพระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป พระสกิทาคามี พระอนาคามี และสูงสุดคือพระอรหันต์ ซึ่งตรงนี้พระอรหันต์คือบุคคลที่ทำประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพชีวิตต่อโลกโดยถ่ายเดียว เพราะพระอรหันต์ได้ทำกิจที่พึงทำแล้ว กิจอื่นที่ยิ่งกว่าไม่มี กิจที่ท่านได้ทำเสร็จแล้วคือกิจที่มีต่อตนเอง จึงไม่มีอะไรที่จะต้องเป็นความยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลกอีกต่อไป จบสิ้นแล้วซึ่งความเห็นแก่ตัวใดๆ โลภโกรธหลงไม่มีแล้ว
นิวรณ์ อกุศลธรรมที่พึงละ
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า การจะเข้าถึงสมาธิ จิตต้องปราศจากนิวรณ์ มาถึงตรงนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องของนิวรณ์ว่ามีกี่อย่าง? แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไร? ส่งผลเสียต่อจิตใจและพฤติกรรมอย่างไร? แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร? จึงจะระงับซึ่งนิวรณ์แต่ละอย่างนั้นๆได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อช่วยให้การพัฒนาทางจิตทั้งในด้านสมาธิและปัญญาเป็นไปอย่างถูกต้อง
สิ่งซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาจิต คือ นิวรณ์นั้น มี 5 อย่าง คือ
1.กามฉันทะ 2. พยาบาท 3.ถีนมิทธะ 4.อุทธัจจะกุกกุจจะ 5.วิจิกิจฉา
ทั้ง 5 อย่างนี้ก็คือ อกุศลธรรมที่เป็นตัวขัดขวางไม่ให้เกิดสมาธิจิต ซึ่งมีการกล่าวอุปมาอุปไมยเปรียบได้กับน้ำชนิดต่างๆ ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจในนิวรณ์ทั้ง 5 นี้ได้อย่างดี