top of page

ธรรมชาติบำบัด

(NATUROPATHY)

การพัฒนาและบริหารจิต

(Mind Development & Management)

 

นายสัตวแพทย์สมชัย  วิเศษมงคลชัย

เอกสารประกอบคําบรรยาย

การประชุมวิชาการบำบัดโรคสัตว์เลี้ยงครั้งที่ 15

ณ.ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2552

ธรรมชาติบำบัดมีลักษณะของการบูรณาการ

“Naturopathy” หรือในภาษาไทยเรียกว่า “ธรรมชาติบำบัด” เป็นเรื่องที่ชาวตะวันตกกำลังให้ความสนใจและรวบรวมพัฒนาจากฐานองค์ความรู้เดิมในอดีตโดยมีความพยายามที่จะนำมาต่อยอดด้วยความรู้และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีลักษณะของการบูรณาการจากความหลากหลายของเนี้อหา รูปแบบและวิธีการต่าง ๆ นำไปสู่การดูแลรักษาแบบองค์รวมซึ่งเป็นไปตามวิถีทางแห่งธรรมชาติ ธรรมชาติบำบัดนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างมากในด้านการนำเสนอด้วยเนื้อหา รูปแบบและเทคนิควิธีการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังคงยืนอยู่บนหลักของการรักษาความสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างกาย จิตและธรรมชาติแวดล้อมนั่นเอง

การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในทุกมิติ

ในที่นี้จะเน้นกล่าวถึงในด้านการพัฒนาจิตหรือการบริหารจัดการจิตไปในทิศทางแห่งการพัฒนาเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในทุกมิติ ซึ่งความสุขอันเป็นยอดปรารถนาของทุกคนก็คือ สุขทั้งกายและใจ และหากพูดในอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ทุกข์ทั้งกายและใจ เพราะเหตุที่ว่าความทุกข์คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจหรือพูดให้เห็นภาพก็คือมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนทั้งกายและใจนั่นเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิต

เราลองมาดูความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิตในแง่ที่จิตมีอิทธิพลส่งผลถึงกาย ในกรณีที่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนกาย คนโดยปกติทั่วไปเมื่อทุกข์กายหรือเกิดอาการเจ็บป่วยทางกาย ใจก็มักจะทุกข์ไปด้วย โดยแสดงอาการของความเครียด วิตกกังวลเร่าร้อนกลุ้มใจ ซึ่งก็ส่งผลกลับมาที่กาย ทำให้กายที่เจ็บป่วยอยู่แล้ว กลับต้องมาเจ็บป่วยหนักมากขึ้น ด้วยการถูกซ้ำเติมจากใจ หากผู้ป่วยนั้นพอจะทำใจได้ ไม่วิตกกังวลจนเกินกว่าเหตุก็อาจช่วยให้อาการป่วยทางกายนั้นไม่หนักมากยิ่งขึ้นหรือไม่หนักมากไปกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งก็นับว่ายังดีกว่าในกรณีแรก

พลังจิตส่งผลถึงการเยียวยารักษาโรคทางกายได้

แต่หากจะให้ดีกว่านี้ ก็คือผู้ป่วยทางกายนั้น มีความรู้ความเข้าใจในระดับหนึ่ง ถึงเรื่องการพัฒนาจิตในแง่ของสมาธิและตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่องจนปรากฏผลที่ว่าจิตมีความสงบพร้อมปิติสุขอยู่ภายในอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังทางจิตแล้ว อำนาจแห่งพลังจิตนั้นสามารถส่งผลถึงการเยียวยารักษาโรคทางกายได้ ซึ่งมีคำอธิบายทั้งทางวิทยาศาสตร์ทางจิตและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่ว่า สมาธิจิตนั้นกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารที่มีชื่อว่า “เอ็นดอร์ฟีน” (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขอันมีผลทำให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลายเบาสบายและกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ สารตัวนี้จะขับหลั่งออกมาในกรณีต่าง ๆเช่น ในขณะออกกำลังกาย ในขณะหัวเราะเพลิดเพลินกับสิ่งที่ชอบและในขณะทำสมาธิ เป็นต้น

 

สมาธิจิตนั้นมีผลดีต่อร่างกาย

ด้วยเหตุนี้จึงมีกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยบางรายที่หายจากโรคบางอย่างได้ด้วยการฝึกปฏิบัติสมาธิ ซึ่งเป็นการรักษาโรค (Treatment) ด้วยพลังแห่งสมาธิจิต ทั้งนี้ก็ไม่อาจพูดแบบเหมารวม คงต้องพิจารณาเป็นรายๆไป แต่ก็มิได้หมายความว่าสมาธิจิตนั้นไม่มีผลใด ๆต่อกาย ตรงกันข้ามกลับต้องเน้นย้ำว่า สมาธิจิตนั้นมีผลดีอย่างแน่นอนต่อร่างกายทั้งในภาวะปกติและต่อร่างกายในภาวะเจ็บป่วย ซึ่งต้องการการเยียวยารักษาอย่างเข้มงวด ในทางการแพทย์ทางเลือกก็มีการปฏิบัติสมาธิเป็นหนึ่งในหลายๆวิธีที่ได้ใช้ในการแนะนำให้ผู้ป่วยนำไปฝึกปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าในศูนย์เฮลท์แอนด์สปาหลายแห่งมีการจัดฝึกสมาธิให้ผู้ไปใช้บริการทั่วไปด้วย ในกรณีนี้เรียกว่าเป็นการป้องกัน (Prevention) หรือ การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) นั่นเอง

ชีวิตที่เกิดมาในโลกย่อมมีความจำกัดด้วยอายุขัย

จะอย่างไรก็ตามชีวิตที่เกิดมาในโลกย่อมมีความจำกัดด้วยอายุขัย ไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้าได้ เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี นี่ คือความรู้ความเข้าใจในระดับปัญญา ที่จิตมาทำหน้าที่พิจารณาไตร่ตรองอยู่เนือง ๆด้วยความไม่ประมาท แม้ว่าจะรักษาสุขภาพกายให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว แต่ในที่สุดก็ไม่อาจหนีพ้นความตายได้ การยอมรับความจริงของชีวิตนี้นี่เองที่เรียกว่า จิตมีการพัฒนาเข้าสู่วิถีทางแห่งปัญญา หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ก็ว่าจิตมาทำหน้าที่ทางปัญญาให้ยอมรับความจริงแห่งความเป็นไปของชีวิต ซึ่งหากพัฒนาจิตมาถึงระดับนี้แล้ว ไม่ว่าร่างกายจะหายหรือไม่หายจากความเจ็บป่วย ก็ไม่มีผลในทางเป็นโทษต่อจิตใจ ตรงกันข้ามกลับเป็นบทเรียนแบบฝึกหัดให้จิตได้พัฒนา ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อชีวิตนั้น ๆ

ผลอันจิตส่งถึงกาย

ด้วยเหตุที่ว่า จิตมีความแจ่มใสบันเทิงด้วยปิติสุข สงบระงับและวางอุเบกขาอันประกอบด้วยปัญญา มีความรู้ความเข้าใจและสำนึกอย่างลึกซึ้งถึงชีวิตและโลกที่เรียกว่า รู้แจ้งโลกแจ้งชีวิต ระดับนี้นี่เองที่เป็นระดับสูงของการพัฒนาจิต ที่ยังประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ด้วยการเห็นและยอมรับสภาพตามความเป็นจริง ความสัมพันธ์ในลักษณะของการตอบสนองระหว่างกายและจิตในแง่ความเจ็บป่วยทางกาย โดยระดับของจิตที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมานี้นั้น ในทางจิตวิทยาและทางการแพทย์เรียกว่า ผลอันจิตส่งถึงกาย (Psychosomatic effect)

ชีวิตเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยกายและจิต

ชีวิตเป็นธรรมชาติที่ประกอบด้วยกายและจิตในลักษณะที่มีดุลยภาพ ธรรมชาติส่วนกายอยู่ได้และพัฒนาได้ด้วยการหล่อเลี้ยงและอิงอาศัยปัจจัยภายนอกซึ่งก็คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ โดยมีการดำเนินกิจวัตรประจำวัน คือการรับประทานอาหารและดื่มน้ำเพื่อรักษาและเสริมสร้างพลังทางกาย การอาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่น การออกกำลังกายด้วยรูปแบบวิธีการต่าง ๆ เพื่อความแข็งแรงของร่างกายและการนอนหลับเพื่อพักผ่อนฟื้นฟูพลังทางกาย ตลอดจนการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะดวกสบายไม่มีมลพิษ เป็นต้น

ธรรมชาติส่วนจิต เป็นธรรมชาติที่รู้

ในขณะที่ธรรมชาติส่วนจิตไม่ได้ต้องการปัจจัยภายนอกอย่างที่ร่างกายต้องการ แต่ชีวิตส่วนจิตต้องการปัญญาที่จะรู้เข้าใจชีวิตและโลกตามความเป็นจริงโดยได้รับการหล่อเลี้ยงและอิงอาศัยปัจจัยภายในคือ ความสงบตั้งมั่นพร้อมด้วยปิติสุข

ธรรมชาติส่วนจิต เป็นธรรมชาติที่รู้ รู้สึกนึกคิด และจดจำ จิตคิดแล้วจึงสั่งกายพูด จิตคิดแล้วจึงสั่งกายให้กระทำ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำพูดที่ว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" กลไกตามธรรมชาติของจิต จึงเป็นกลไกที่ รับรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆที่มาเกี่ยวข้อง โดยผ่านช่องทางคือ ตา หู จมูก ลิ้น  กาย และใจ อารมณ์ในที่นี้มิใช่อารมณ์ตามความเข้าใจทั่วไป ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Emotion“ หมายถึงอารมณ์โกรธ อารมณ์ร้อน อารมณ์เย็น หรืออื่น ๆ เป็นต้น

อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกรู้โดยจิต

แต่”อารมณ์”ที่กำลังกล่าวถึงนี้ หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ หรือธรรมชาติที่ถูกรู้ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Object" เป็นธรรมชาติที่ถูกรู้โดยจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้ คือจิตรู้อารมณ์ต่าง ๆ เช่น จิตรับรู้อารมณ์คือรูปโดยผ่านตา(เห็น) จิตรับรู้อารมณ์คือเสียง โดยผ่านหู(ได้ยิน) จิตรับอารมณ์คือกลิ่น  โดยผ่านจมูก(ได้กลิ่น) จิตรับรู้อารมณ์คือรส โดยผ่านลิ้น(รู้รส) จิตรับรู้อารมณ์คือสิ่งต้องกาย(เย็นร้อนอ่อนแข็ง)โดยผ่านกาย(รู้สึกสัมผัส) และจิตรับรู้อารมณ์คือธรรมารมณ์ โดยผ่านใจ(รู้ความนึกคิด) นี้เป็นกลไกตามธรรมชาติของชีวิตอันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ หรือจะกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือจิต กาย และสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

ชีวิตมีลักษณะของธรรมชาติ

ที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัย

ชีวิตนอกจากจะเป็นธรรมชาติดังที่กลาวมาแล้ว ชีวิตยังมีลักษณะของธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่าง ๆ ชีวิตส่วนกายประกอบด้วยเซลล์ เนี้อเยื่อ อวัยวะและระบบอวัยวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวไปเพื่อการรักษาดุลยภาพแห่งความมีชีวิตให้อยู่อย่างปกติและพัฒนาเติบโตไปได้หรือที่เรียกว่า มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนและมีความพร้อมต่อการทำหน้าที่ต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่ชีวิตส่วนจิตก็ประกอบด้วยองค์ประกอบทางจิตที่มีความหลากหลายอันก่อให้เกิดคุณสมบัติและอาการทางจิตในลักษณะต่าง ๆกันไป ทั้งที่ดีอันเป็นคุณประโยชน์และไม่ดีอันเป็นโทษ ที่ดีก็เช่น จิตมีสติ ศรัทธา ไม่โลภ ไม่โกรธ มีความสงบ มีความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น ในส่วนที่ไม่ดีก็เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความไม่ละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น

ชีวิตมีลักษณะที่เรียกว่า "สามัญลักษณะ"

และด้วยเหตุฉะนี้นี่เอง ชีวิตจึงมีลักษณะของความปรวนแปรไปในท่ามกลางความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งซึ่งเรียกว่า “ความเป็นทุกข์” ความเป็นทุกข์ในที่นี้หมายถึง ความที่ไม่อาจคงทนอยู่สภาพเดิมได้ เพราะเหตุที่องค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่าง ๆแปรเปลี่ยนไป เห็นได้อย่างชัดเจนที่ว่า เราทุกท่านคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ไม่ต้องการความแก่ชรา ไม่ต้องการความเจ็บไข้ไม่สบาย และที่สุดไม่ต้องการพบกับความตาย แต่สิ่งที่กล่าวมานี้ก็ยังคงเป็นสัจธรรมที่ทุกชีวิตไม่อาจหนีพ้นไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกล่าวต่อมาว่า “ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง” สิ่งที่ไม่อาจคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลางความเป็นไป ไม่อาจบังคับบัญชาได้  จะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา ในลักษณะที่เที่ยงแท้แน่นอนแบบตายตัวก็ย่อมไม่ได้ ลักษณะเช่นนี้นี่เองที่เรียกว่า “อนัตตา” ด้วยเหตุนี้ธรรมชาติของชีวิตจึงมีลักษณะที่เรียกว่า “สามัญลักษณะ”คือลักษณะที่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา เป็นอย่างนั้นเอง เป็นเช่นนี้เอง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยางต่อเนื่องของสิ่งทั้งหลายที่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัยทั้งที่เป็นธรรมชาติฝ่ายรูปธรรม(กาย)และนามธรรม(จิตใจ)นั่นเอง

ยอมรับธรรมชาติตามจริงมีคุณค่าต่อการพัฒนาจิต

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของชีวิต ธรรมชาติของกายและจิต ธรรมชาติของจิตและอารมณ์ กลไกธรรมชาติของการตอบสนองระหว่างจิตกับอารมณ์โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ และยอมรับลักษณะธรรมชาติของชีวิตอันเป็นสิ่งที่มีการปรุงแต่งว่า ต้องแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย การมองเห็น เข้าใจและยอมรับธรรมชาติของชีวิตตามความเป็นจริงนี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอันสำคัญที่มีคุณค่าความหมายอย่างมากต่อการพัฒนาจิตเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขในทุกมิติ

อุปมาถึงการฝึกม้า

เปรียบเทียบในเชิงอุปมาถึงการฝึกม้า เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ การที่จะฝึกม้าได้ดีนั้น ก็ต้องรู้จักธรรมชาติของม้า รู้อุปนิสัย พฤติกรรมและการตอบสนองของม้าในรูปแบบต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกับการฝึกจิต ยิ่งรู้จักธรรมชาติของจิตมากเท่าใด ก็จะทำให้รู้จักที่จะฝึกจิตได้ดีเท่านั้น

ทำให้จิตมีความเห็นถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง

ประเด็นอยู่ที่ว่าต้องทำให้จิตมีความเห็นถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง เพราะหากจิตมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ก็จะส่งผลให้ความนึกคิด การพูดและการกระทำในด้านต่าง ๆเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ และนำความสุขมาสู่ชีวิตได้ ซึ่งตรงกันข้ามหากจิตไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือเห็นผิดไปจากความจริงแล้ว ความนึกคิด การพูดและการกระทำในด้านต่าง ๆ ก็จะเป็นไปในลักษณะที่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่ชีวิตตนและผู้อื่น

การพัฒนาจิตก็อยู่ที่มีความเพียร สติและสัมปชัญญะ

จุดเริ่มต้นของการฝึกฝนพัฒนาจิตก็อยู่ที่มีความเพียร พัฒนาสติคือความระลึกรู้และสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม ในขณะที่รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ คือ กาย(ท่ายืน เดิน นั่ง นอนและลมหายใจเข้าออก เป็นต้น) เวทนา(สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) จิต(ลักษณะความเป็นไปของจิต เช่น โลภ โกรธ สมาธิ เป็นต้น)และธรรม(ความเป็นไปทางความนึกคิดต่าง ๆนานา เป็นต้น) โดยเพ่งพิจารณาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนเกิดผลทั้ง 2 ด้าน คือ สมาธิและปัญญา

จิตทำหน้าที่ทางสมาธิและปัญญา

จิตที่ทำหน้าที่ทางสมาธิ จะมีคุณสมบัติคือ มีความตั้งมั่น มีพลัง มีความสงบ ผ่อนคลาย สดชื่น และพร้อมต่อการทำหน้าที่ในด้านอื่น ๆต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบาทฐานของการพัฒนาปัญญา

 

ส่วนจิตที่ทำหน้าที่ทางปัญญา จะมีลักษณะพินิจพิจารณาความเป็นไปอยู่ภายใน ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง

หลักในขณะฝึกฝนปฏิบัติ

หลักในขณะฝึกฝนปฏิบัติอยู่ที่ อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ภายใน ไม่ยินดียินร้าย ไม่มีตัวเราและของเราในขณะนั้น เพียงความรู้ตัวทั่วพร้อมในขณะที่จิตระลึกรู้อยู่ที่อารมณ์นั้น อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว มิอาจแก้ไขใด ๆได้ อนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ใยต้องวิตกกังวลเล่า ปัจจุบันคือความจริงที่กำลังเผชิญอยู่ ทำให้ดีที่สุด อะไรจะเกิดก็เกิด อะไรจะเป็นไปก็เป็นไป ปล่อยให้เป็นไปโดยธรรมชาติ หน้าที่ก็คือ ทำเหตุอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผลก็จะปรากฏเอง และเมื่อผลปรากฏก็ไม่ยินดียินร้ายในผลนั้น จิตยังคงทำหน้าที่อย่างมีสติและสัมปชัญญะในอารมณ์นั้น อารมณ์ไหนเด่นก็ระลึกรู้อยู่ที่อารมณ์นั้น

ฝึกฝนพัฒนาจิตไปในแนวทางนี้อย่างสม่ำเสมอ

ฝึกฝนพัฒนาจิตไปในแนวทางนี้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เกิดความชำนาญคล่องแคล่วในการเพ่งให้จิตเป็นสมาธิได้ง่ายและเร็วขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกันก็เกิดความคล่องแคล่วในการพิจารณาทำให้จิตมาทำหน้าที่ทางปัญญาได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

เมื่อเป็นดังนี้ก็ชื่อว่าประสพความสำเร็จในการฝึกฝนพัฒนาจิตได้ในระดับหนึ่ง เป็นระดับที่สามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงานและผู้คนในสังคม หรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เรื่องราวความเป็นไปในด้านต่าง ๆโดยจิตมาทำหน้าที่ขณะเผชิญกับอารมณ์ภายนอกเหล่านี้ได้อย่างมีสติ สัมปชัญญะ สมาธิและปัญญา เมื่อจิตมาทำหน้าที่ในแนวทางนี้ ก็จะเกิดคุณประโยชน์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ใช้อารมณ์มาเป็นบทเรียนแบบฝึกหัด

ให้กับการพัฒนาจิต

ซึ่งก็ย่อมหมายความว่า เป็นผู้ที่รู้จักใช้จิตให้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมทั้งในเวลาที่ให้จิตออกมาทำหน้าที่ต่ออารมณ์ภายนอก ก็รู้จักที่จะใช้พลังทางสมาธิและปัญญา ตลอดทั้งในเวลาที่ให้จิตมาทำหน้าที่ต่ออารมณ์ภายใน ก็รู้จักที่จะฟื้นฟูพลังทางสมาธิและปัญญาเช่นกัน

 

หากทำได้เช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่รู้จักใช้อารมณ์ต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในมาเป็นบทเรียนแบบฝึกหัดให้กับการพัฒนาจิต เป็นการฝึกฝนเรียนรู้ท่ามกลางความเป็นไปในความจริงที่ปรากฏในขณะนั้น ซึ่งเป็นการพัฒนาจิตอย่างต่อเนื่องและตลอดสายทั้งด้านสมาธิและปัญญา ผลปรากฏก็คือความสุขในทุกมิติของชีวิตนั่นเอง

Yoga in Nature

AMAZING THAILAND 2000
โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

"กาย - จิต - ธรรมชาติ"
เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

และสมาคมไทยท่องเที่ยว

เชิงอนุรักษ์และผจญภัย
จัดขึ้นสำหรับบริษัทนำเที่ยว

จากประเทศในแถบเอเชีย
วันที่ 23 กันยายน 2543
ณ ผึ้ง – หวานรีสอร์ทแอนด์สปา

จังหวัดกาญจนบุรี

โปรแกรมเกี่ยวกับกาย คือ

อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

กายบริหารฤษีดัดตน

นวดเพื่อสุขภาพด้วยน้ำมันหอมระเหย

และนวดฝ่าเท้า

โปรแกรมเกี่ยวกับจิต คือ

ฝึกฝนเรียนรู้ในด้านเจริญสติและสมาธิ

ในท่ายืน เดิน นั่ง และนอน

โปรแกรมเกี่ยวกับธรรมชาติ คือ

เดินป่า ดูนก และล่องเรือชมธรรมชาติ

Meditating in Mountains

AMAZING THAILAND 2000
โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

"กาย - จิต - ธรรมชาติ"
เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

และสมาคมไทยท่องเที่ยว

เชิงอนุรักษ์และผจญภัย
จัดขึ้นสำหรับบริษัทนำเที่ยว

จากประเทศในแถบยุโรป
วันที่ 24 กันยายน 2543
ณ ผึ้ง – หวานรีสอร์ทแอนด์สปา

จังหวัดกาญจนบุรี

โปรแกรมเกี่ยวกับกาย คือ

อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

กายบริหารฤษีดัดตน

นวดเพื่อสุขภาพด้วยน้ำมันหอมระเหย

และนวดฝ่าเท้า

โปรแกรมเกี่ยวกับจิต คือ

ฝึกฝนเรียนรู้ในด้านเจริญสติและสมาธิ

ในท่ายืน เดิน นั่ง และนอน

โปรแกรมเกี่ยวกับธรรมชาติ คือ

เดินป่า ดูนก และล่องเรือชมธรรมชาติ

bottom of page